Monday, September 17, 2018

Chemistry News 9: เตือน! สารเคมีจากเคสมือถือกลิตเตอร์อาจเสี่ยงผิวหนังไหม้-พุพอง

เคสโทรศัพท์มือถือชนิดที่สามารถใส่ของเหลว ทั้งแบบมีสีและไม่มีสี ผสมกลิตเตอร์ หรือกากเพชรวิววับ เป็นที่นิยมในหมู่คนไทย และชาวต่างชาติมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่เห็นทีจะไม่ปลอดภัย 100% เมื่อมีรายงานข่าวจากต่างประเทศว่า เด็กหญิง 9 ขวบ เกิดเหตุของเหลวจากเคสโทรศัพท์มือถือรั่วไหล สัมผัสบนผิวหนังขณะนอนหลับทับเคส ตื่นเช้ามาพบรอยไหม้ และพุพอง


นอกจากนี้ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเตือนว่าหากผิวหนังสัมผัสของเหลวภายในเคสมือถือ ให้รีบล้างออกด้วยน้ำเปล่ามากๆ เพื่อป้องกันผิวหนังพุพองจากสารเคมี
"ระวังอันตรายจากสารเคมี ในเคสมือถือ กลิตเตอร์
ปรกติผมไม่ค่อยชอบโพสต์แบบเตือนภัยอันตรายต่างๆ เพราะเดี๋ยวนี้กลัวว่าพลังของโซเชียลมันจะทำให้สังคมแตกตื่นเกินไป แต่เรื่องนี้เห็นว่ายังไม่ค่อยเป็นที่ตระหนักกัน จึงขอยกขึ้นมาหน่อยเถอะ
ทางรายการ "ทุกข์ชาวบ้านสุดสัปดาห์" ช่อง TNN24 ได้มาขอสัมภาษณ์จากกรณีข่าวที่มีเด็กหญิงวัยแค่ 9 ปี นอนทับเคสโทรศัพท์มือแบบที่มีของเหลวใสใส่ตัวกลิตเตอร์สะท้อนแสงวาวๆ อยู่ด้านหลัง (http://www.mirror.co.uk/…/uk-news/girl-9-left-iphone-shaped…) แล้วตื่นเช้ามา เกิดเป็นรอยแผลไหม้สารเคมีพุพอง ... เรื่องนี้จริงเท็จเป็นเช่นไร
จากการเช็คกูเกิ้ล แม้ว่าจะยังไม่เคยมีรายงานอันตรายลักษณะนี้ในไทย แต่ในต่างประเทศมีคนเจอแล้วหลายราย ทั้งในอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ จนเชื่อได้ว่าน่าจะเรื่องจริง ที่สำคัญที่ ไม่มีการเขียนเตือนไว้เลยที่กล่องสินค้า ว่าให้ระวังอันตรายจากสารเคมี
แม้ว่าจะไม่ทราบว่าสารเคมีข้างในนั้นคืออะไร (สงสัยต้องขอให้ อ.อ๊อด Weerachai Phutdhawong ช่วยตรวจดู) แต่เท่าที่ลองซื้อมาจากร้านค้าทั่วไป แล้วเจาะเอามาทดสอบง่ายๆ พบว่า ของเหลวในนั้น มันมีกลิ่นฉุนรุนแรง นิ้วแตะๆ ดูแล้วรู้สึกร้อน ลองเอาไปเทราดเนื้อไก่ไว้ พบว่าเนื้อไก่เปื่อยยุ่ยใน 10 นาที (เสียดายว่าวัดพีเอชด้วยกระดาษอินดิเคเตอร์ ไม่พบว่าเป็นกรดหรือด่างเข้มข้น) จึงน่าจะฟันธงได้ว่า มันเป็นสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายได้จริงๆ ถ้ารั่วซึมออกมา
ดังนั้น การใช้เคสมือถือกลิตเตอร์แบบนี้จึงควรระวังเป็นอย่างมาก อย่าไปทำให้มันแตกรั่วซึม ถ้าสัมผัสร่างกาย ให้ล้างออกด้วยน้ำเปล่าเยอะๆๆ
ที่ขอเรียกร้องอีกอย่างคือ ผู้ประกอบการเอง ก็ควรจะเขียนคำเตือนไว้ให้ชัดเจนบนกล่องสินค้าด้วย (เท่าที่เช็คกัน แม้แต่ยี่ห้อแพงๆ ก็ไม่เขียนคำเตือน)”
ที่มา: Sanook! 

Friday, September 14, 2018

Chemistry News 8: รู้จัก "ไกลโฟเซต" สารกำจัดวัชพืชที่แพ้คดีสารก่อมะเร็งในสหรัฐฯ

ไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืชที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรในหลายประเทศนิยมใช้ กลายเป็นข่าวดังอีกครั้ง หลังจากคณะลูกขุนในสหรัฐฯ มีคำสั่งให้บริษัทมอนซานโต้เจ้าของผลิตภัณฑ์ จ่ายค่าเสียหายมูลค่า 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 9,500 ล้านบาท) ให้แก่ชายคนหนึ่งซึ่งอ้างว่าล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพราะใช้ผลิตภัณฑ์ปราบศัตรูพืชที่มีสารไกลโฟเซตของบริษัทเป็นประจำในการทำงาน

คดีประวัติศาสตร์
คณะลูกขุนแห่งศาลนครซานฟรานซิสโก มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 ส.ค.) ว่าบริษัทมอนซานโต้ ผู้ประกอบธุรกิจด้านเคมีเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรรายใหญ่ของโลก มีความผิด เนื่องจากไม่แสดงคำเตือนอย่างเพียงพอ ว่าสารไกลโฟเซตซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในยาปราบศัตรูพืช "ราวด์อัพ" (RoundUp) และ "แรงเจอร์โปร" (RangerPro) อาจก่อให้เกิดมะเร็งกับผู้ใช้
คณะลูกขุนมีคำวินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของมอนซานโต้ "มีส่วนสำคัญ" ที่ทำให้โจทก์ คือ นายดีเวย์น จอห์นสัน ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จากการที่เขาใช้ผลิตภัณฑ์แรงเจอร์โปร เป็นประจำในการทำงานเป็นคนสวนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) เมื่อปี 2014
คดีนี้นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สารไกลโฟเซตถูกเชื่อมโยงกับการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีลักษณะเดียวกันต่อไป โดยนอกจากนายจอห์นสันแล้ว ปัจจุบันมีผู้ยื่นฟ้องคดีในลักษณะเดียวกันกว่า 5,000 รายทั่วสหรัฐฯ
ด้านบริษัทมอนซานโต้ ประกาศว่าบริษัทจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินคดีครั้งนี้ต่อไป ขณะที่บริษัทไบเออร์ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทมอนซานโต้ หลังเข้าซื้อกิจการเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ยืนยันว่า ยากำจัดวัชพืชที่มีสารไกลโฟเซตเป็นส่วนผสมนั้นมีความปลอดภัยในการใช้งานและไม่ก่อให้เกิดมะเร็งหากใช้งานถูกต้องตามที่ระบุไว้ที่ฉลากสินค้า
ไกลโฟเซต คืออะไร และมีอันตรายไหม?
ไกลโฟเซต เป็นสารเคมีที่บริษัทมอนซานโต้เริ่มใช้ใน "ราวด์อัพ" ซึ่งออกจำหน่าย มาตั้งแต่ปี 1974 โดยโฆษณาว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชโดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อพืชผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์นี้มีจำหน่ายในกว่า 160 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
หลังจากสิทธิบัตรสารไกลโฟเซตของบริษัทมอนซานหมดอายุลงเมื่อปี 2000 ก็ทำให้ปัจจุบันสารดังกล่าวถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย
แม้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ (EPA) จะไม่ออกข้อจำกัดเรื่องการใช้สารไกลโฟเซต โดยชี้ว่ามีอันตรายต่ำ พร้อมออกคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้ยากำจัดวัชพืชชนิดนี้เป็นเวลา 12 ชั่วโมงหลังการฉีดพ่น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายชิ้นจากนานาชาติบ่งชี้ว่าไกลโฟเซตเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ได้
โดยเมื่อปี 2015 สำนักวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติขององค์การอนามัยโลก สรุปผลการศึกษาว่า สารไกลโฟเซต "อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์" แต่รายงานร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติในปี 2016 สรุปว่า สารไกลโฟเซต "ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งในมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหาร"

ปัจจุบันบางประเทศ เช่น โปรตุเกส อิตาลี และนครแวนคูเวอร์ของแคนาดา ได้ออกกฎห้ามใช้สารไกลโฟเซตในพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ ขณะที่ทางการศรีลังกาห้ามใช้ไกลโฟเซตเมื่อปี 2015 แม้จะถูกต่อต้านจากผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมชา เช่นเดียวกับโคลอมเบียที่ห้ามการฉีดพ่นสารไกลโฟเซตทางอากาศในปี 2015 แม้จะมีการใช้วิธีดังกล่าวอย่างแพร่หลายในการทำลายไร่โคคาผิดกฎหมายก็ตาม
การใช้ไกลโฟเซตในประเทศไทย
ส่วนในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซ ระบุว่า ไกลโฟเซต เป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในปี 2014
ในการเสวนาบนเวทีวิชาการเรื่อง "ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย : พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)" เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้น รศ.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้กล่าวอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2553-2559 ที่พบหลักฐานว่า ไกลโฟเซต มีส่วนกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นถึง 5- 13 เท่า และยังออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทส่วนกลางในระยะยาวด้วย
เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องที่คณะกรรมการวัถตุมีพิษอันตราย มีมติไม่แบนการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา


ที่มา: BBC

Chemistry News 7: พบสารอันตรายปนเปื้อนใน "พลาสติกดำ" ที่ใส่อาหาร-ของใช้

สารเคมีอันตรายและโลหะหนักอย่างตะกั่ว โบรมีน และพลวงปริมาณมาก เข้าไปปนเปื้อนอยู่ในพลาสติกสีดำ ซึ่งเป็นวัสดุที่สัมผัสกับอาหาร และเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่พบได้ทั่วไป
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพลีมัธของสหราชอาณาจักรชี้ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่ามารีไซเคิล เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกดำดังกล่าว

มีการตีพิมพ์ผลการศึกษานี้ในวารสาร Environment International โดยผู้วิจัยระบุว่า สารเคมีที่อันตรายต่อสุขภาพเหล่านี้เป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างคอมพิวเตอร์แลปท็อปและเครื่องเสียงโดยถูกใช้เป็นสารกันไฟและสีเคลือบ ซึ่งจะยังคงตกค้างอยู่แม้อุปกรณ์ดังกล่าวหมดอายุการใช้งานแล้ว
ดร. แอนดรูว์ เทอร์เนอร์ ผู้นำทีมวิจัยระบุว่า ได้ใช้วิธีวาวรังสีเอกซ์ (XRF Spectrometry) ตรวจสอบผลิตภัณฑ์พลาสติกดำในชีวิตประจำวัน 600 ชนิด เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า ของเล่น เครื่องประดับ เครื่องใช้สำนักงาน รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าและใหม่
ผู้วิจัยพบว่ามีสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์พลาสติกดำสำหรับผู้บริโภค ทั้งที่ไม่ได้เป็นส่วนประกอบหลักที่จำเป็นในการผลิตพลาสติกดำแต่อย่างใด โดยปริมาณที่ปนเปื้อนนั้นเกินระดับที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
"ผลการตรวจสอบนี้ชี้ถึงข้อบกพร่องในการคัดแยกวัสดุใช้แล้วสำหรับกระบวนการรีไซเคิล เนื่องจากผู้ผลิตพลาสติกดำเลือกนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่ากลับมาใช้ใหม่ด้วยเหตุผลเรื่องการประหยัดต้นทุน แต่ขาดความระมัดระวังในการป้องกันไม่ให้สารเคมีอันตรายเข้าถึงผู้บริโภค" ดร. เทอร์เนอร์ กล่าว
ทั้งนี้ สารเคมีอันตรายอย่างตะกั่วอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ โดยผู้ได้รับสารตะกั่วจะมีอาการทางระบบประสาท ความจำเสื่อมถอย และระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ ส่วนโบรมีนนั้นเป็นสารที่ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อของมนุษย์
ที่มา: BBC

Chemistry News 6: ร่องรอยของสารเคมีในน้ำหอมอาจช่วยไขคดีอาชญากรรมได้



นักวิจัยจากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน กำลังทำการทดสอบขั้นต้น เพื่อประเมินศักยภาพในการใช้ร่องรอยของสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบในน้ำหอม เพื่อเป็นหลักฐานในการไขความกระจ่างแก่คดีอาชญากรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่มีการสัมผัสใกล้ชิด เช่นการประทุษร้ายทางเพศ
ซิโมนา เกอร์เกล หัวหน้าคณะวิจัยระบุว่า น้ำหอมแต่ละชนิดนั้นมีองค์ประกอบต่างกัน แต่สารเคมีหลายชนิดในน้ำหอมที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถส่งผ่านจากตัวของบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งที่สัมผัสกันได้ โดยอาจส่งผ่านจากเส้นใยของผ้าที่สวมใส่ไปยังเสื้อผ้าและสิ่งของของอีกบุคคลหนึ่งได้ด้วย โดยร่องรอยสารเคมีนี้สามารถคงทนอยู่ได้นานในระยะหนึ่ง
จากการทดสอบนำวัสดุสองชิ้นมาสัมผัสกันเป็นเวลา 1 นาที โดยชิ้นหนึ่งมีร่องรอยของน้ำหอมอยู่ พบว่าในภายหลังวัสดุอีกชิ้นหนึ่งที่มาสัมผัส มีสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของน้ำหอมในวัสดุชิ้นแรกถึง 14 ชนิด จากทั้งหมด 44 ชนิด และยิ่งเพิ่มเวลาการสัมผัสให้นานขึ้นเป็น 10 นาที ก็พบว่ามีสารเคมีส่งผ่านมาเพิ่มมากขึ้นเป็น 18 ชนิด
ผลการทดสอบดังกล่าวชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า ร่องรอยการสัมผัสน้ำหอมอาจใช้เป็นหลักฐานหนึ่งในการไขปริศนาคดีอาชญากรรม ร่วมกับการใช้หลักฐานอื่น ๆ เช่นลายนิ้วมือ หรือร่องรอยดีเอ็นเอ โดยอาจชี้ได้ว่า เกิดการสัมผัสแบบใดขึ้นและในเวลาเมื่อใด อย่างไรก็ตาม นักวิจัยชี้ว่าไม่สามารถใช้ร่องรอยการสัมผัสน้ำหอมเป็นหลักฐานในการไขคดีเพียงอย่างเดียวได้ และจะต้องเก็บตัวอย่างหลักฐานมาวิเคราะห์ในเวลาอันรวดเร็วหลังเกิดเหตุแล้ว

ที่มา: BBC

Chemistry News 5: ชี้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องรับเคมีบำบัด

ผลการติดตามศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชาวอเมริกันกลุ่มใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นเวลานาน 9 ปีพบว่า ผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกบางกลุ่มที่ไม่ได้รับเคมีบำบัด มีอัตราการรอดชีวิตในระยะยาวไม่ต่างจากกลุ่มที่ได้รับเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำแต่อย่างใด
ผลการค้นพบดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมบางกลุ่มที่ไม่ต้องการรับเคมีบำบัด ซึ่งส่งผลข้างเคียงในทางลบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งเป็นอย่างมาก เช่นทำให้อาเจียน อ่อนแรง เจ็บปวดตามเส้นประสาทอย่างถาวร หัวใจล้มเหลว หรือเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

x
งานวิจัยที่สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐฯครั้งนี้ ใช้ชื่อว่า TAILORx จัดทำโดยศูนย์มะเร็งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในนครนิวยอร์ก เพื่อวางแนวทางให้แพทย์ใช้ตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้แต่ละราย
มีการติดตามศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรก 10,273 คน ซึ่งบางคนได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและฮอร์โมน แต่บางคนหลีกเลี่ยงวิธีดังกล่าวและเลือกรับการรักษาด้วยฮอร์โมนเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าในเวลา 9 ปีต่อมา ผู้ป่วยกลุ่มแรกมีอัตราการรอดชีวิตที่ 93.8% ในขณะที่กลุ่มหลังซึ่งไม่ได้รับเคมีบำบัดมีอัตราการรอดชีวิตที่ 93.9%
ผลการศึกษาดังกล่าวชี้ว่า อัตราการรอดชีวิตในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีของผู้ป่วยสองกลุ่มนั้นไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งยังชี้ด้วยว่าผู้ป่วยระยะแรกที่มีคะแนนผลตรวจพันธุกรรมหรือยีน 21 ตัว ซึ่งบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงเกิดมะเร็งซ้ำสองได้ในระดับปานกลางหรือต่ำนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องรับเคมีบำบัดแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยที่มีคะแนนความเสี่ยงเกิดมะเร็งซ้ำในระดับปานกลาง เป็นกลุ่มที่แพทย์ลังเลใจในการสั่งให้เคมีบำบัดมากที่สุด เพราะผลการรักษาที่ตามมาอาจได้ไม่คุ้มเสีย
แนวทางการตัดสินใจแบบใหม่ของแพทย์ดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกถึง 70% ที่พบในแต่ละปี ไม่ต้องรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้เข้ารับการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
ในปัจจุบัน โรงพยาบาลบางแห่งในสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรได้นำเกณฑ์การวินิจฉัยโรคแบบใหม่นี้ มาใช้กับคนไข้มะเร็งเต้านมของตนแล้ว แต่จะไม่รวมถึงผู้ป่วยระยะแรกที่มีอาการรุนแรง ในกรณีที่เซลล์มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและมีการกลายพันธุ์ของยีน HER2 เกิดขึ้น
ที่มา : BBC

    Chemistry News 4: เตือนสารในหน่อไม้ฝรั่งทำให้มะเร็งเต้านมลุกลามยิ่งขึ้น

    นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานเพิ่มเติมซึ่งยืนยันว่าสาร "แอสพาราจีน" (Asparagine ) ซึ่งมีอยู่ในหน่อไม้ฝรั่งและอาหารอีกหลายชนิด เป็นตัวการที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งเต้านมแพร่กระจายและเจริญเติบโตลุกลามไปทั่วร่างกายได้มากยิ่งขึ้น

    ผลการค้นพบดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ทำการทดลองกับหนูที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านมชนิดรุนแรง ซึ่งปกติแล้วจะต้องตายภายในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ หลังเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่าง
      แต่ผลการวิจัยพบว่า หนูทดลองดังกล่าวกลับยังมีชีวิตอยู่รอดได้ หลังได้รับอาหารชนิดพิเศษที่มีสารแอสพาราจีนต่ำ หรือได้รับยาที่ป้องกันการดูดซึมสารแอสพาราจีนในร่างกาย โดยเซลล์มะเร็งเต้านมชะลอการแพร่กระจายตัวลงในทันที
      ศาสตราจารย์เกรก แฮนนอน ผู้นำคณะวิจัยบอกว่า "ปรากฏการณ์ที่เซลล์มะเร็งเต้านมไม่สามารถแพร่กระจายตัวได้นี้ ถือว่าหาพบได้ยากมาก และช่วยยืนยันว่ามะเร็งบางชนิดจะเสพติดสารบางอย่างในอาหารที่เรากินเข้าไป เพราะมีความสำคัญในการทำให้มันแพร่กระจายตัวได้"
      โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งที่เป็นเนื้อร้ายในขั้นต้นจะไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แต่มะเร็งในระยะลุกลามนั้นจะเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยในขั้นตอนนี้เซลล์มะเร็งจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมากเพื่อแตกตัวออกจากเนื้อร้ายก้อนหลัก รวมทั้งต้องดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ในกระแสเลือดและเจริญขึ้นต่อไปในที่แห่งใหม่ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้หากขาดสารอย่างแอสพาราจีนเสียแล้วจะเกิดขึ้นได้ยากมาก
      ศาสตราจารย์แฮนนอนย้ำว่า การค้นพบนี้จะปูทางให้มีการคิดค้นอาหารเหลวหรือเครื่องดื่มพิเศษที่ปราศจากแอสพาราจีน เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หรืออาจนำไปสู่การพัฒนายายับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งดูดซึมสารแอสพาราจีนได้ คล้ายกับยา L-asparaginase ที่ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวอยู่แล้วในปัจจุบัน
      ทั้งนี้ สารแอสพาราจีนเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งซึ่งเป็นส่วนประกอบของโปรตีน สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิดนอกเหนือจากหน่อไม้ฝรั่ง เช่น ไข่ ผลิตภัณฑ์นม เนื้อวัว เนื้อสัตว์ปีก อาหารทะเล มันฝรั่ง ถั่ว ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง และเมล็ดพืชหลายชนิด จึงเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารที่มีสารแอสพาราจีนอยู่ไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งไม่มีความจำเป็นที่คนทั่วไปซึ่งมีสุขภาพแข็งแรงจะต้องหลีกเลี่ยงสารอาหารนี้ เพราะส่งผลในทางลบกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเท่านั้น
      ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ผลการค้นพบในครั้งนี้ยังคงต้องมีการทดสอบซ้ำเพื่อยืนยันอีกครั้ง และไม่แนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมงดอาหารที่มีสารแอสพาราจีนเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์เสียก่อน

      ที่มา: BBC

      Chemistry News 3: จีนใช้เทคนิคตัดต่อเบสกับดีเอ็นเอตัวอ่อนมนุษย์ครั้งแรกของโลก

      ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นในมณฑลกวางโจวของจีน ได้ทดลองใช้เทคนิค "ผ่าตัดด้วยเคมี" (Chemical surgery) ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อขจัดโรคร้ายทางพันธุกรรมในตัวอ่อนมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก



      การผ่าตัดนี้เป็นการตัดต่อเบส (Base editing) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในรหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ โดยจะเลือกซ่อมแซมข้อบกพร่องทางพันธุกรรมที่เบสเพียงตัวเดียว จากลำดับเบสทั้งหมดที่มนุษย์มีอยู่ถึง 3,000 ล้านตัว
      มีการเผยแพร่รายละเอียดของการทดลองครั้งนี้ในวารสารวิชาการ Protein and Cell โดยระบุว่านักวิทยาศาสตร์ได้ตัดต่อพันธุกรรม ของตัวอ่อนมนุษย์ที่เกิดจากการโคลนนิ่งในห้องปฏิบัติการ เพื่อกำจัดโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดเบต้าออกจากรหัสพันธุกรรมของตัวอ่อน โดยมีการตัดต่อเบสตัวใดตัวหนึ่งใน 4 ชนิด ซึ่งได้แก่อะดีนีน ไซโตซีน กัวนีน และไทมีน ซึ่งแทนด้วยตัวอักษร A, C, G, T ตามลำดับ ส่งผลให้พิมพ์เขียวที่กำหนดกลไกการทำงานในร่างกายของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป

      โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดเบต้าที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เกิดจากความผิดพลาดที่เบสเพียงตัวเดียวในรหัสพันธุกรรม หรือที่เรียกว่าการกลายพันธุ์เฉพาะจุด (Point mutation) ซึ่งทีมวิจัยของจีนได้ใช้วิธีสแกนดีเอ็นเอเพื่อหาข้อบกพร่อง จากนั้นจึงเปลี่ยนเบส G ที่ทำให้เกิดโรค ให้กลายเป็นเบส A ตามรหัสพันธุกรรมที่ถูกต้อง
      รศ.หวง จุนจิว ผู้นำทีมวิจัยกล่าวกับบีบีซีว่า "เราเป็นทีมแรกของโลกที่แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะรักษาโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อนมนุษย์ โดยใช้เทคนิคการตัดต่อเบส การศึกษานี้ช่วยเปิดทางสู่การรักษาและป้องกันไม่ให้เด็กทารกเกิดมาพร้อมกับโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดเบต้า หรือแม้แต่โรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ด้วย"
      ปฏิวัติวิทยาการพันธุศาสตร์
      การตัดต่อเบส ถือเป็นเทคนิคการตัดต่อพันธุกรรมที่ก้าวหน้าไปยิ่งกว่าการทำคริสเปอร์ (Crispr) ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังก่อนหน้านี้ วิธีแบบคริสเปอร์นั้นจะแยกสายดีเอ็นเอออกจากกัน ซึ่งเมื่อร่างกายพยายามซ่อมแซมดีเอ็นเอส่วนที่เสียหาย ยีนตัวหนึ่งจะใช้การไม่ได้ และเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์สามารถฝังข้อมูลทางพันธุกรรมใหม่ลงไปได้ ซึ่งต่างจากเทคนิคการตัดต่อเบสที่จัดการกับเบสตัวที่มีปัญหาโดยตรง
      ศ.เดวิด หลิว จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคการตัดต่อเบสคนแรกของโลกเรียกวิธีการนี้ว่า "การผ่าตัดด้วยเคมี" ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า และทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าวิธีอื่น ๆ
      "ในบรรดาโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ที่เรารู้จักกัน มีอยู่ราว 2 ใน 3 ที่เกิดจากการกลายพันธุ์เฉพาะจุด ดังนั้นการตัดต่อเบสจึงมีศักยภาพที่จะช่วยแก้ไขโรคเหล่านี้โดยตรง หรืออาจจะใช้เพื่อผลิตซ้ำตัวอย่างสำหรับงานวิจัยได้" ศ. หลิวกล่าว
      ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นเคยเป็นข่าวเกรียวกราวมาแล้ว จากการทดลองใช้เทคนิคคริสเปอร์กับตัวอ่อนมนุษย์เป็นครั้งแรก
      ด้านศ.โรบิน โลเวลล์-แบดจ์ จากสถาบันฟรานซิส คริก ในกรุงลอนดอนให้ความเห็นว่า บางส่วนของงานวิจัยนี้เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคที่ชาญฉลาด แต่ก็ตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดจึงไม่ทดลองกับตัวอ่อนของสัตว์ให้มากกว่านี้ ก่อนจะเลื่อนขั้นมาใช้ตัวอ่อนมนุษย์ซึ่งยังคงมีปัญหาในเชิงจริยธรรมอยู่
      อย่างไรก็ตาม ศ.โลเวลล์-แบดจ์ กล่าวว่า วิธีการตัดต่อแก้ไขพันธุกรรมในตัวอ่อนมนุษย์เหล่านี้ ไม่น่าจะถูกนำมาใช้จริงในเชิงการแพทย์ได้ในเร็ววัน "ยังต้องมีการถกเถียงอภิปรายกันอีกมาก ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งเรื่องจริยธรรม และเรื่องกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมวิธีการเหล่านี้ ในหลายประเทศรวมทั้งจีนจะต้องมีการจัดตั้งกลไกกำกับ ควบคุมดูแล และติดตามผลระยะยาวด้วย"
      ที่มา: BBC

      Chemistry News 9: เตือน! สารเคมีจากเคสมือถือกลิตเตอร์อาจเสี่ยงผิวหนังไหม้-พุพอง

      เคสโทรศัพท์มือถือชนิดที่สามารถใส่ของเหลว ทั้งแบบมีสีและไม่มีสี ผสมกลิตเตอร์ หรือกากเพชรวิววับ เป็นที่นิยมในหมู่คนไทย และชาวต่างชาติมาสักระย...